โนราห์หนังตะลุงมีความหลากหลายในท้องถิ่นอย่างไร  สร้างคำถาม

 2,640 view  หมวดหมู่ : เรื่องเรียน  วันที่สร้าง : 24/07/2012

โนราห์หนังตะลุงมีความหลากหลายในท้องถิ่นอย่างไร

เล่าเรื่องเมืองตรัง ๖
มาแต่ตรังไม่หนังก็โนรา

สำนวนนี้ถ้าแปลตามตัวดูเหมือนว่าคนตรังถ้าไม่เป็นหนังตะลุงก็เป็นมโนราห์กันทุกคน แท้จริงอาจจะมิใช่เช่นนั้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือภาพหนึ่งของอัตลักษณ์ตรังที่มองจากคนภายนอกผู้เคยประสบกับไหวพริบปฏิภาณของคนตรัง ทั้งความเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน ฝีปากคมคาย โวหารเฉียบขาด ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้เล่นหนังตะลุงและมโนราห์ ประกอบกับหนังนายตะลุงและมโนราห์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งในอดีตและปัจจุบันหลายคนก็เป็นชาวตรัง

ในสมัยที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดีเป็นผู้ว่าราชการเมืองตรังได้สนับสนุนหนังตะลุงและมโนราห์ให้มาแสดงเมื่อมีงานต่าง ๆ โดยเฉพาะเมื่อมีการรับเสด็จเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน รับรองเจ้านายและแขกบ้านแขกเมือง

หนังตะลุงและมโนราห์เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่อยู่ยงมายาวนานในวิถีชีวิตของชาวใต้ แม้วันนี้มีสื่อบันเทิงสมัยใหม่ที่หลากหลายเข้ายึดครองพื้นที่การเสพศิลปะบันเทิง แต่มีผู้คนหลากหลายที่กล่าวตรงกันว่าหนังตะลุงและมโนราห์จะไม่มีวันตาย เพราะมี “ครูหมอ” คอยสืบทอดจิตวิญญาณศิลปินส่งต่อให้แก่ลูกหลานมิให้ขาดสาย

นอกจากนี้ในเมืองตรังยังเป็นต้นกำเนิดการละเล่นพื้นบ้านอีกชนิดหนึ่งคือลิเกป่าที่กล่าวกันว่าเกิดขึ้นที่ตรังเป็นครั้งแรก ส่วนรองเง็งได้มาจากกระบี่ ในขณะที่กาหลอก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของงานศพเมืองตรัง

หนังตะลุง มโนราห์ รองเง็ง ลิเกป่า และกาหลอ จึงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีตรัง



หนังตะลุง

ชาวตรังเรียกหนังตะลุงหลายชื่อ เช่น หนังลุง หนังควาย หนังขับ หนังควน หนังโหม่ง จะเรียกชื่อใดก็หมายถึงหนังเดียวกัน แบบแผนการเล่นหนังตะลุงในตรังก็เป็นเช่นเดียวหนังจังหวัดอื่นในภาคใต้ จะต่างกันที่ลีลาลูกเล่นอันเป็นเสน่ห์เฉพาะตัว

หนังตะลุงคณะหนึ่ง ๆ หรือโรงหนึ่งมีประมาณ ๙-๑๒ คน ประกอบด้วยนายหนัง คือหัวหน้าคณะหรือนายโรง เป็นคนเชิดรูป และขับขานบทกลอน เจรจาตามบทบาทของรูปหนังทุกตัว ลูกคู่หนังมีหน้าที่เล่นดนตรี คือ ทับ กลอง ปี่ โหม่ง ฉิ่ง กรับ ปัจจุบันมีการนำเครื่องดนตรีสากลเข้าไปร่วมกับเครื่องดนตรีหลักด้วย เช่น กลองชุด กีต้าร์ คีย์บอร์ด และอาจมีหมอไสยศาสตร์ประจำโรงด้วย

แบบแผนในการแสดงของหนังตะลุง เริ่มจากหนังลงโรงซึ่งเป็นการตั้งเครื่องโดยการตีกลองหนังเอาฤกษ์ เบิกรูปจากแผง แล้วทำพิธีเบิกโรง หรือพิธีไหว้ครู ว่าคาถากำกับอุปกรณ์และเครื่องดนตรีที่ใช้ในการแสดง จากนั้นบรรเลงเพลงทับเป็นการโหมโรง แล้วออกรูปฤาษีมาว่าคาถาเพื่อไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คุ้มครอง ต่อมาเป็นการออกรูปพระอิศวรทรงโค ซึ่งถือเป็นการเชิดรูปศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นศิลปะชั้นสูงของหนังตะลุง นายหนังจะเชิดรูปอย่างสุดฝีมือ และมีบทพากย์ไหว้พระอิศวร กล่าวถึงธรรมเนียมการแสดงหนังตะลุงรวมทั้งการขอพรในการแสดง ออกรูปกาศ หรือรูปปรายหน้าบท ซึ่งเป็นรูปที่เสมือนแทนตัวนายหนัง ออกมาขับกลอนหรือพากย์บทไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไหว้ครูหนัง และบุคคลที่นายหนังนับถือ รวมทั้งเจ้าภาพที่รับหนังมาแสดง ซึ่งก่อนออกรูปนายหนังจะเสกคาถาเปิดปากรูปเพื่อให้เกิดกำลังใจและไหวพริบในการขับกลอนต่อผู้ฟัง จากนั้นหนังตะลุงจะออกรูปตัวตลกเพื่อบอกผู้ชมถึงเรื่องที่จะแสดงโดยใช้ภาษาถิ่นใต้ โดยมากจะออกตัวขวัญเมือง เรียกว่าออกรูปบอกเรื่อง ลำดับต่อไปนายหนังจะขับกลอนสั้น ๆ เป็นคติสอนใจผู้ชมเรียกว่าบทเกี้ยวจอ แล้วจึงตั้งเมือง คือการออกรูปเจ้าเมืองที่ปรากฏในเรื่อง เพื่อเป็นการเปิดเรื่อง หลังออกรูปเจ้าเมืองแล้วเดินเรื่อง คือดำเนินการแสดงต่อไปตามโครงเรื่องที่กำหนดไว้ ซึ่งมีทั้งเรื่องที่แต่งขึ้นเอง ดัดแปลงจากนิยาย นิทานประโลมโลก รวมทั้งชาดก

หนังตะลุงใช้บทกลอนหรือบทพากย์เพื่อบรรยายเรื่อง การแต่งกาย บรรยายฉาก บรรยายความรู้สึกนึกคิดของตัวละครสลับกับคำเจรจาของตัวละคร บทกลอนที่ใช้เป็นคำประพันธ์หลายชนิด ทั้งกลอนสาม กลอนสี่ กลอนหก กลอนแปด กาพย์ยานี๑๑ กลอนกลบท กลอนคำตาย ซึ่งคำประพันธ์แต่ละชนิดที่ใช้จะทำให้เกิดความรู้สึกไปตามทำนองกลอน เช่น

กลอนสี่ที่ขับตามลักษณะลีลาพิเศษของดนตรีที่เรียกว่า กลอนลอดโหม่งคือการขับกลอนแต่ละวรรคสลับเสียงดนตรีคือเสียงโหม่ง เป็นลีลาการขับกลอนที่เป็นเสน่ห์และแสดงถึงความสามารถของนายหนังในด้านศิลปะการขับกลอนหนังอย่างเด่นชัด นอกจากนั้นการใช้ภาษาของตัวตลกหนังตะลุงถือเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญ ตัวตลกหลัก เช่น เท่ง ทอง แก้ว ไม่ว่าจะเป็นหนังคณะใด จะใช้สำเนียงภาษาลีลาการพูดแบบเดียวกันและแสดงนิสัยเดียวกัน นับเป็นอัจฉริยะของนายหนังที่จะต้องฝึกฝนในเรื่องนี้เป็นพิเศษ

เสน่ห์ของหนังตะลุงอยู่ที่อัจฉริยะของนายหนัง ซึ่งต้องสวมบทบาทของตัวละครทุกตัวในเรื่องที่แสดง พร้อม กับเชิดรูปหนังให้ปรากฏเงาภาพบนจอให้มีชีวิตชีวาไปตามจังหวะลีลาของดนตรี นายหนังใช้บทเจรจาให้ตัวละครทุกตัวโต้ตอบกันอย่างทันควัน รวดเร็วและกลมกลืน จนผู้ฟังหน้าโรงลืมไปว่าเป็นเสียงของนายหนังเพียงคนเดียว

ไหวพริบและปฏิภาณในการคิดกลอนสดเป็นจุดเด่นอีกประการหนึ่งของนายหนัง ที่สำคัญนายหนังผู้สามารถสร้างอารมณ์ขันผ่านบทเจรจาของตัวตลกได้ดีถูกใจคนดูจะเป็นที่นิยมมาก

เมืองตรังมีหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมชมชอบของชาวตรังและชาวจังหวัดอื่น ๆ หลายคณะ หนังตะลุงรุ่นเก่า เช่น หนังเดี้ยม หนังจูลี้ เสียงเสน่ห์ หนังหมุนนุ้ย เล่นเรื่องการเมือง นายหนังเด่น ๆ ในวันนี้ ต้องเอ่ยชื่อหนังณรงค์ จันพุ่ม รับขันหมากไม่ว่างตลอดปี ทั่วภาคใต้เป็นต้องรู้จัก หนังอนันต์ สิกขาจารย์ ครูภาษาไทยที่ฝึกลูกศิษย์เป็นนายหนังไปแล้วหลายราย และนายหนังอีกไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ นายในตำบลหมู่บ้านตั้งแต่ตรังเขาลงมาจนถึงตรังทุ่ง

ที่สำคัญคนเมืองตรังแม้มิได้เป็นนายหนังแต่ก็ยังขับขานบทกลอนมีชื่อเสียงสืบต่อกันไม่ขาดสาย



มโนห์รา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายของคำว่า โนรา ไว้ว่า เป็นภาษาปาก เป็นคำเดียวกับคำว่า มโนห์รา หมายถึง ศิลปะการแสดงพื้นเมืองอย่างหนึ่งของภาคใต้ มีแม่บทท่ารำอย่างเดียวกับละครชาตรี โนรา ก็ว่า เขียนเป็นมโนราห์ก็มี

ความเป็นมาของมโนห์รา มีตำนานว่าพระยาสายฟ้าฟาดกับนางศรีมาลมเหสี มีธิดาชื่อนางนวนทองสำลี ต่อมาเทวดามาดลจิตให้นางสุบินเห็นนางกินนรมาร่ายรำโดยมีดนตรีประโคม นางจำได้ ๑๒ ท่า และนำมาร่ายรำประโคมดนตรีเป็นประจำ วันหนึ่งนางกินดอกบัวในสระและเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา พระบิดากริ้วมาก จึงจับนางและสนมลอยแพออกไปกลางทะเล แพลอยไปติดเกาะกะชัง นางอยู่ที่เกาะกะชังจนคลอดบุตรชายให้ชื่อพระเทพสิงหร และให้ฝึกท่ารำฟ้อนโนราจนเชี่ยวชาญ พระเทพสิงหรกลับไปเมืองพระอัยกา ร้องรำโนราเป็นที่เล่าขาน เมื่อพระอัยกาได้ทราบข่าว ก็ให้ทหารไปรับนางนวนทองสำลี แต่นางไม่ยอมกลับ ทหารต้องมัดตัวกลับมา พระยาสายฟ้าฟาดพระราชทานเครื่องอย่างกษัตริย์ให้แก่พระเทพสิงหร เพื่อรำทรงเครื่องในงานฉลองทำขวัญ เครื่องแต่งกายโนราจึงมีลักษณะเป็นเครื่องทรงกษัตริย์ พระเทพสิงหรได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนศรีศรัทธา และได้รำโนราและถ่ายทอดนาฏศิลป์แบบโนราจนแพร่หลายสืบต่อมาหลายชั่วคน บทไหว้ครูของโนราจึงต้องเอ่ยถึงขุนศรีศรัทธาหรือขุนศรัทธาเสมอ

อย่างไรก็ตาม ตำนานโนรายังมีอีกหลายกระแส ปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมไปตามความเชื่อของแต่ละถิ่น แต่ละสายของครูโนราที่สืบทอดกันมา

การแสดงโนราเป็นการละเล่นที่มีทั้งการร้อง การรำ และการแสดงเป็นเรื่องเหมือนละคร มีดนตรีประกอบตามจังหวะและลีลาการแสดง ได้แก่ กลอง ทับ ปี่ โหม่ง ฉิ่ง และแตระหรือกรับ

การแสดงจะเริ่มต้นจากการตั้งเครื่อง คือการประโคมดนตรีเพื่อขอที่ขอทางเมื่อคณะโนราเข้าโรงแสดงเรียบร้อยแล้ว และเมื่อถึงเวลาแสดงก็จะลงโรงหรือโหมโรง จากนั้นเป็นการกาศครูหรือเชิญครู ซึ่งเป็นบทขับไหว้ครูโนรา เล่าประวัติความเป็นมาของโนรา แล้วจึงปล่อยตัวนางรำ ก่อนนางรำจะออกมารำจะมีการร้องขับกลอนกำพรัดหน้าม่าน ซึ่งมักจะเป็นบทร้อง บรรยายการแต่งกายหรือการเตรียมแต่งองค์ทรงเครื่องของนางรำก่อนออกมารำหน้าม่าน

การแต่งกายของโนราจะแปลกตาไปจากการแสดงอื่น ๆ ด้วยชุดลูกปัดหลากสี สวมกำไลมือ กำไลแขน ศีรษะสวมเทริด ด้านหลังผูกหางหงส์ที่ทำด้วยเขาควายร้อยลูกปัด สวมปลอกเล็บยาวโค้ง นางรำจะออกมารำเดี่ยวและเป็นชุดหลายคน ระหว่างรำจะขับร้องบทกลอนโดยมีลูกคู่คือคณะผู้บรรเลงดนตรีประกอบร้องรับ ท่ารำหลักที่ใช้รำมี ๑๒ ท่า เรียกว่าท่าแม่ลาย ซึ่งโนรารุ่นต่อ ๆ มาได้คิดประดิษฐ์ท่ารำเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงมีจำนวนท่าและชื่อท่าแตกต่างกันเพราะต่างครูต่างตำรา นอกจากนั้นโนรามักรำบทครูสอน บทสอนรำ และบทท่าประถมพรหมสี่หน้า ซึ่งถือว่าเป็นท่ารำแบบโบราณ การแสดงจะเน้นบทร้องและท่าทาง ที่เรียกว่าการทำบท

ท่ารำตามแบบของครูเพ็ญ หรือนางเพ็ญประภา เกื้อบุญส่ง ลูกศิษย์มโนห์ราเติม ผู้ฝึกสอนมโนห์รานักเรียนโรงเรียนบ้านหลังเขา อำเภอวังวิเศษ สังเกตได้ว่ามีมากกว่า ๑๒ ท่า จึงยกตัวอย่างมาเพียงบางส่วน

ขึ้นต้นให้เป็นประถม มาพระพรหมสี่หน้า

รำเป็นท่าสอดสร้อย ร้อยเป็นพวงมาลา

เวโหยนโยนชิงช้า ให้น้องนอน

รำเป็นท่าผาลา ปลดปลงลงมาเพียงไหล่

พิสมัยร่วมเรียงมาเคียงหมอน มรคาแขกเต้าบินเข้ารัง

หลังจบกระบวนของนางรำแล้ว เป็นการออกพรานตัวตลกของโนรา ออกมาขับเกริ่นให้คอยชมนายโรง แล้วออกตัวนายโรงหรือโนราใหญ่ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะ นายโรงจะอวดท่ารำและขับกลอนเป็นพิเศษสำหรับคนดู นายพรานจะออกมาอีกครั้งเพื่อสนทนากับนายโรง และโต้กลอนกับนายโรงอย่างอย่างสนุกสนานในลักษณะของตัวตลก แล้วบอกเรื่องที่จะแสดง ต่อไปก็จะเล่นเรื่อง หรือแสดงเรื่องจนจบ ปัจจุบัน โนราหลายคณะได้จัดให้มีการแสดงดนตรีก่อนการแสดงโนราหรือหลังจากเล่นเรื่องจบแล้ว เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามค่านิยมของยุคสมัย

โนราแพร่หลายมาเมืองตรังเมื่อใดไม่ปรากฏชัด แต่โนราเมืองตรังได้ปรากฏชื่อลือไกลมาช้านาน เช่น โนราแก้ว รูปงาม โนรามีชื่อในสมัยพระยารัษฎาฯ ขุนเทพครูโนราเก่าหรือขุนเทพชาตรี เชื้อสายของโนราแก้วแห่งบ้านโพธิ์ ขุนทาหรือขุนศรัทธาใจภักดิ์ บ้านทุ่งไหม้ ครูโนราทั้งสองมีชื่อเสียงรู้จักไปทั่ว นอกจากนั้นยังมีโนราคลิ้ง หรือหมื่นวิเศษนัจกิจที่ลาออกจากตำแหน่งกำนันเพราะพิสมัยการรำโนรามากกว่าเป็นเจ้าขุนมูลนาย

โนราตรังที่มีชื่อเสียงต่อมาได้แก่ โนราเติม (เติม อ๋องเซ่ง) จากเขาวิเศษ ซึ่งเป็นยอดโนราที่มีปฏิภาณไหวพริบขับกลอนสด โนราเฟื่อง บ้านท่าจีน โนราเลื่อน บ้านไสต้นวา โนราหมึก บ้านเขาแก้ว โนราแป้น เครื่องงาม เป็นต้น

ผู้ที่ฝึกรำโนราส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อสายของโนราเก่าที่ถ่ายทอดกันมาเป็นรุ่น ๆ โนราอาชีพจะต้องเข้าพิธีไหว้ครู ผูกผ้า สวมเทริด ครูหมอโนรา ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวโนรา คณะโนราจึงต้องมีการรำโรงครูหรือโนราลงครูเพื่อไหว้ครูและรับศิษย์ใหม่ ๆ เข้าโรง นอกจากนั้นการรำโรงครูเพื่อแก้บนก็เป็นสิ่งที่ควบคู่มากับจารีตของการเล่นโนรา

การเล่นโนราโรงครูเพื่อแก้บนจะมีพิธีกรรมและการแสดงพิเศษไปจากการเล่นเพื่อบันเทิงตามปกติ เช่น การรำคล้องหงส์ รำแทงเข้(จระเข้) ซึ่งเป็นการนำเค้าตำนานโนรามาแสดง กล่าวคือ รำคล้องหงส์เป็นการรำตำนานตอนนางนวนทองสำลีไม่ยอมกลับเมือง ต้องใช้วิธีจับมัดกลับมา ส่วนการรำแทงเข้เป็นตอนพานางนวนทองสำลีกลับวัง ถึงปากแม่น้ำมีจระเข้ขวางทาง ต้องแทงเข้เสียก่อนเรือจึงเข้าปากน้ำได้ การรำคล้องหงส์และแทงเข้เป็นพิธีกรรมที่สวยงามและหาดูได้ยาก จะมีเฉพาะการรำโรงครูเท่านั้น แต่ปัจจุบันโรงเรียนประถมศึกษาหลายโรง ได้ฟื้นฟูศิลปะการแสดงโนราแบบโบราณให้แก่เด็ก ๆ แม้จะมิใช่เชื้อสายโนรา ก็สามารถร่ายรำได้อย่างน่าชื่นชม

ลิเกป่า

ศิลปะการแสดงทางฝั่งทะเลตะวันตกที่นิยมกันมานาน โดยเฉพาะทางฝั่งทะเลตรังหรือตรังเล คือ ลิเกป่า หรือ ลิเกบก หรือลิเกรำมะนา หรือบางคนก็เรียกว่าลิเกแขกแดง เป็นการแสดงร้องรำลักษณะคล้ายคลึงกับลิเกในภาคกลาง แต่มีบทร้อง ทำนองและเครื่องดนตรีแตกต่างกัน ลิเกป่าจะใช้เครื่องดนตรีหลัก คือ รำมะนา จึงเรียกว่า ลิเกรำมะนา มีการออกแขก คือแขกแดง เป็นที่มาของการเรียก ลิเกแขกแดง

เชื่อกันว่าลิเกป่าจะมีต้นกำเนิดที่จังหวัดตรัง ด้วยเหตุที่ในการเล่นลิเกป่าทุกคณะและทุกครั้ง จะมีฉากชมธรรมชาติในทะเลแถบอำเภอกันตัง ของตัวละครสำคัญในเรื่อง คือยายีหรือยาหยีขณะเดินทางไปเมืองกัลกัตตากับแขกแดงทางเรือ ดังตัวอย่างว่า

ถอนหมอช่อใบเสียงกรีดกรีด เป่าลูกหวีดสะเทือนลำนาวา

ถอนหมอช่อใบแล้วใส่ลูกรอก นาวาแล่นออกนอกท่ากันตัง

ลมออก*แปรพัดหยอกฉาฉา ลมธาราพัดมากินใบ

ร่ายแล่นลัดตัดหน้าท่าส้ม เมียกั้นร่มให้พอบังแสงหวัน

แล่นลัดตัดถึงพระม่วง พอหวันตั้งดวงแล่นมาไวไว

ลิเกป่า คงจะเกิดขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ หลังจากการย้ายเมืองตรังจากควนธานีไปกันตัง เพราะในบทร้องของลิเกป่าได้กล่าวถึงว่าเจ้าเมืองตรังคือพระยารัษฎา ฯ แต่งตั้งแขกแดงให้เป็นใหญ่ด้วย ลิเกป่าเดิมมีเล่นอยู่มากในชุมชนมุสลิมเขตอำเภอกันตัง คือ แถบบ้านพระม่วง นาเกลือ หัวหิน สิเหร่ ท่าปาบ เกาะเคี่ยม บางหมาก โคกยาง เกาะลิบง ในอำเภออื่น ๆ เช่น สิเกา ย่านตาขาว ปะเหลียน และอำเภอหาดสำราญ เรียกได้ว่าเป็นศิลปะการแสดงที่นิยมกันมากในหมู่ตรังเล

ลิเกป่าเมืองตรังที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในสมัยก่อน คือ คณะย้อย ศิลปินชาวใต้ บ้านนาเกลือ อำเภอกันตัง คณะส่ง เจริญศิลป์ จากตำบลทุ่งค่าย อำเภอย่านตาขาว ปัจจุบันลิเกป่าได้รับความนิยมน้อยลง เช่นเดียวกับศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอื่น ๆ ของไทยอีกหลายอย่าง อย่างไรก็ตามลิเกป่ายังมิได้สูญหายไปจากเมืองตรังทั้งหมด ยังคงมีคณะลิเกป่าที่รับเล่นในงานต่าง ๆ อยู่บ้าง เช่น คณะฉิ่ง เจริญศิลป์ บ้านบางหมาก คณะ ส.ประเทืองศิลป์ คณะนายโหม้ย แย้มไหม บ้านโคกยาง คณะนายโหระ หลีสู เกาะลิบง คณะกุ้งทอง ย่านตาขาว คณะลิ้มเสียงแก้ว แคล้ว เสียงทอง หาดสำราญ และคณะลิเกหมึก วังวิเศษ ลิเกรินทร์ ตำบลทุ่งค่าย เป็นต้น (ข้อมูลนี้อาจเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ....)

ลิเกป่าคณะหนึ่ง ๆ ประกอบด้วยผู้แสดงประมาณ ๑๕ - ๒๐ คน ทำหน้าที่ลูกคู่และเล่นดนตรีประกอบ ๕ - ๘ คน ส่วนที่เหลือเป็นตัวแสดง ตัวแสดงหลัก คือ แขกแดง ยายี เสนา และเจ้าเมือง นอกจากนั้นเป็นตัวประกอบ เวทีแสดงปลูกเป็นโรง ๖ เสา หลังคาเพิงหมาแหงน กั้นม่านกลาง ปูเสื่อแสดงบนพื้นดินหรือยกสูงก็ได้ จะเป็นเครื่องดนตรีประกอบด้วย กลองรำมะนา ๒ - ๓ ลูก โหม่ง ฉิ่ง ปี่ กรับ ซอ ส่วนการแต่งกาย แขกแดง ตัวเอกของเรื่องจะแต่งแบบแขกมลายู ติดหนวดเครารุงรัง สวมสร้อยลูกประคำ ยายี ตัวเอกฝ่ายหญิง นุ่งผ้าปาเต๊ะ สวมเสื้อยอหยาผ้าลูกไม้ มีผ้าโปร่งบางคลุมศีรษะและห้อยคอ ส่วนสะหมาดหรือเสนา แต่งแบบคนรับใช้ มักไม่สวมเสื้อ แต่งหน้าตาให้ดูตลกขบขัน นอกจากนั้นจะแต่งตัวให้เหมาะกับเนื้อเรื่อง

เรื่องที่แสดงของลิเกป่าเชื่อกันว่าเป็นเรื่องชีวิตจริงของแขกอินเดียที่มาค้าขายที่กันตังคนหนึ่ง ชาวตรังเรียกแขกเหล่านี้ว่าแขกแดง เนื้อเรื่องกล่าวถึงแขกแดงว่าเป็นพ่อค้าชาวลักกะตา ซึ่งน่าจะหมายถึงกัลกัตตา มาค้าขายจนได้สาวกันตังเป็นภรรยาเรียกว่ายายี วันหนึ่งแขกแดงอยากกลับบ้านเกิดจึงขอให้ยายีเดินทางไปด้วย ยายีสั่งลาพ่อแม่พี่น้องตลอดถึงผู้ชมที่เมืองไทย แขกแดงสั่งให้สะหมาดซึ่งเป็นคนใช้ ขนข้าวของลงเรือเตรียมเดินทาง ระหว่างเดินทางออกจากท่ากันตัง แขกแดงได้ชี้ชวนยายีชมธรรมชาติ แต่ก่อนจะถึงเมืองกัลกัตตา เรือต้องเกยตื้นในบางแห่ง คือ หน้าเกาะลิบงกับเกาะเหลาเหลียง

การแสดงลิเกป่าทุกครั้งเล่นเรื่องเดียวกันตลอด มีลำดับขั้นตอนการแสดงเริ่มด้วยการเบิกโรงขอที่ขอทางเจ้าที่ แล้วโหมโรงด้วยการบรรเลงดนตรีล้วน ๆ ต่อด้วยบทว่าดอก คือการขับบทลูกคู่โดยผลัดกันร้องทีละคน ผลัดเปลี่ยนกันไปรอบวง บทร้องจะกล่าวถึงดอกไม้ เนื้อหาพรรณนาถึงความรัก เกี้ยวพาราสี จากนั้นเป็นการไหว้ครู เป็นการขับร้องคารวะสิ่งศักดิ์สิทธ์ทั้งหลายรวมทั้งครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนกันมา ให้ช่วยพิทักษ์รักษาคณะลิเกป่า แล้วต่อด้วยการบอกชุดสิบสองภาษา คือขับบทเรื่องนิทานหรือเรื่องในวรรณคดีอย่างย่อ ๆ ทั้งหมด ๑๒ ชุด จบแล้วถึงตอนสำคัญคือการออกแขกแดง โดยแขกแดงจะจุดเทียนขับบทเป็นภาษาแขกหลังม่าน แล้วขับบทขย่มม่านออกหน้าโรงในลักษณะเต้นสามขา มือหนึ่งเท้าสะเอวเต้นออกไปหน้าโรง ขับบทคารวะผู้ชมและแนะนำตัวเองไปพร้อมกัน มีลูกคู่ร้องรับบทขับแต่ละตอน เสร็จแล้วจะเริ่มเล่นเรื่อง โดยแขกแดงจะเรียกยายีออกมาเพื่อชักชวนให้ไปบ้านเมืองของตน การแสดงเป็นไปตามเนื้อเรื่องข้างต้น จนถึงเมืองกัลกัตตา ก็จะมีเสนาหรือตัวตลกออกมาบอกเรื่องที่จะเล่นต่อจากเรื่องแขกแดง แต่ปัจจุบันเรื่องแขกแดงจะเล่นถึงตอนเรือติดหาด ตัวเสนาก็จะออกมาบอกเรื่องที่จะเล่นต่อไปซึ่งส่วนใหญ่เรื่องที่จะเล่นเรื่องนิยายจักร ๆ วงศ์ ๆ จากวรรณคดี เมื่อการแสดงจบลง ผู้แสดงทุกคนจะออกมาหน้าม่านและร้องบทส่งครูเป็นลำดับสุดท้าย



รองเง็ง

บุหงาตันหยง หยงไหรน้องหนอดอกสาเหล้า

รับรักกับบังตะน้องสาว ทั้งปอทั้งเหล้าบังไม่เป็น

บังเป็นแต่งาน ใครใครทั้งบ้านเขากะเห็น

ทั้งปอทั้งเหล้าบังไม่เป็น หรือน้องไม่เห็นเหมือนคนอื่น

บทเพลงรองเง็งขับร้องด้วยภาษาถิ่นใต้ในท่วงทำนองสูง ๆ ต่ำ ๆ รับกับจังหวะรำมะนาที่เร้าใจและเสียงบรรเลงของไวโอลินที่หวานพลิ้ว เป็นบทร้องเล่นที่ได้ยินได้ฟังกันอยู่บ่อย ๆ เพราะรองเง็งเป็นการละเล่นที่แพร่หลายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และชายฝั่งทะเลตะวันตกเช่น ตรัง กระบี่ พังงา และภูเก็ต เป็นต้น นิยมเล่นกันทั้งหมู่ไทยพุทธและไทยมุสลิม จังหวัดตรังนั้นมีคณะรองเง็งอยู่ในกลุ่มไทยมุสลิมตามชายฝั่ง ตามเกาะในอำเภอกันตังและอำเภอปะเหลียน

รองเง็ง มีลักษณะผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมพื้นบ้านของภาคใต้กับมลายูอย่างชัดเจน ลักษณะการเล่นหรือแสดงผสมผสานระหว่างท่าเต้นกับบทร้อง คณะหนึ่ง ๆ จะมีจำนวน ๔ - ๑๐ คน เครื่องดนตรีที่สำคัญคือ รำมะนา กับซอ หรืออาจมีฆ้องเพิ่มเข้ามาในบางคณะ นางรำจะจะแต่งกายแบบหญิงมุสลิมทั่วไปคือผ้าปาเต๊ะกับเสื้อหยอหยา มีผ้าโปร่งหรือผ้าลูกไม้ผืนยาวคล้องคอ และมีผ้าเช็ดหน้าหนึ่งผืน การแต่งกายของคู่รำชายในการแสดงของคณะจะแต่งแบบชายชาวมลายู ในการเต้นจะยืนเต้นกับที่เป็นส่วนใหญ่โดยเน้นท่าเท้า ท่ามือ การโยกตัว ย่อตัวเป็นหลัก

บทร้องของรองเง็ง มักจะขึ้นต้นด้วยคำว่าบุหงาตันหยงเสมอ จึงเรียกการเล่นรองเง็งอีกอย่างหนึ่งว่าเพลงตันหยง อันหมายถึงดอกพิกุลอันหอมหวน

ภาษาในบทเพลงมักจะใช้ภาษาถิ่นใต้ ผู้แสดงส่วนใหญ่จะใช้บทที่เขียนแต่งท่องจำกันมา และบางส่วนก็ใช้กลอนสดการแสดงเป็นการเต้นพร้อมไปกับการร้องโต้ตอบของคู่เต้นอย่างคล่องแคล่วชำนาญ เนื้อร้องส่วนใหญ่จะเป็นบทที่เกี่ยวกับความรัก การเกี้ยวพาราสีต่อกัน การโต้ตอบแก้เพลงของแต่ละฝ่ายจึงเป็นเรื่องสำคัญในการเล่นรองเง็ง

การเล่นรองเง็งมี ๒ ลักษณะ คือ การแสดงที่มีการรับไปเป็นคณะเพื่อให้คณะผู้แสดงของคณะที่มีทั้งพ่อเพลงและแม่เพลงแสดงให้ดู ส่วนอีกลักษณะหนึ่ง คือ มีการขายบัตรคล้ายรำวง ผู้ชมจะซื้อบัตรขึ้นไปโค้งขอรำกับนางรำที่พอใจเป็นรอบ ๆ ไป โดยอาจร้องกลอนโต้ตอบกับนางรำหรือเพียงขึ้นไปเป็นคู่เต้นก็ได้

ความไพเราะของลีลาเพลงตันหยงเป็นที่ติดหูผู้ชม คนตรังแม้ไม่ใช่คณะรองเง็ง ส่วนใหญ่จะร้องเพลงตันหยงได้และมีการนำมาร้องเล่นกันอย่างกว้างขวาง น่าเสียดายที่ปัจจุบันคณะรองเง็งกลับมีน้อยลง การร้องเล่นรองเง็งของคนรุ่นใหม่ก็ห่างหายไปจนแทบจะไม่มีเหลือ

กาหลอ ดนตรีพิธีกรรม

กาหลอ เป็นการประโคมดนตรีที่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตชาวตรังมานาน ถือว่าเป็นการประโคมที่มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ การประโคมกาหลอแต่เดิมนั้น ใช้ในงานศพ งานบวชนาค และงานรดน้ำคนเฒ่าคนแก่เท่านั้น ปัจจุบันกาหลอจะใช้ประโคมเฉพาะในงานศพเพียงอย่างเดียว

กาหลอโรงหนึ่งมี ๔ คน ตีกลองขาน ๒ คน ปี่ ๑ คน และตีฆ้องอีก ๑ คน ใช้การประโคมดนตรีล้วนไม่มีการขับร้อง แม้ว่าบทเพลงที่ประโคมจะมีเนื้อร้องก็ตาม แต่ปี่จะทำหน้าที่แทนคนขับร้อง อธิบายเนื้อความของเพลงด้วยลีลาของเสียงและจังหวะ เพลงกาหลอส่วนใหญ่จะเป็นทำนองที่สร้างอารมณ์เศร้า วังเวง สลดหดหู่

การสร้างโรงกาหลอ ต้องไม่ขวางหวันหรือขวางตะวัน ขนาดกว้าง ๕ ศอก ยาว ๗ ศอก หลังคาจั่ว หันหน้าโรงไปทางทิศตะวันตก เช่นเดียวกับศีรษะของศพ หลังคามุงจากหรือกระแชง ฝาใช้จากหรือใบมะพร้าวกั้น พื้นโรงใช้ไม้วางบนพื้นดินเรียกว่าทอดหมอน แล้วปูกระดาน ปูเสื่อทับ

ในการประโคมกาหลอ มีข้อปฏิบัติเคร่งครัดหลายประการ ตั้งแต่เริ่มออกจากบ้าน คณะกาหลอจะหยิบเครื่องดนตรีออกไปโดยไม่หวนกลับมาอีก พร้อมกับทำพิธี “กันเรือน” และ “กันตัว” โดยเดินบริกรรมคาถารอบบ้าน ๓ รอบ แล้วเดินทางไปที่จัดงานศพ โดยไม่แวะเวียนที่ใด พอถึงโรงพิธีก็จะตรวจความถูกต้องเรียบร้อยก่อน ถ้าไม่ถูกต้องก็จะไม่เข้าโรงจนกว่าจะแก้ไขให้ถูกต้อง จากนั้นเจ้าภาพเตรียมเครื่องบูชาแก่คณะกาหลอ ในเวลาพระอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้า ทางคณะกาหลอก็จะทำพิธีเข้าโรง เริ่มทำพิธีไหว้ครู แล้วประโคมดนตรีเพื่อคุมศพ เชื่อกันว่าเป็นการปลุกวิญญาณผู้ตายให้คลายความโศกเศร้า และปลอบประโลมญาติมิตรของผู้ตายด้วย

เมื่อคณะกาหลอเข้าไปในโรงพิธีแล้ว จะออกไปไหนมาไหนไม่ได้ จนถึงเวลาเที่ยงวันของวันรุ่งขึ้น อาหารการกินจะต้องไม่ปะปนกับใคร และจะรับของจากมือผู้หญิงไม่ได้อย่างเด็ดขาด จะชักชวนให้ใครไปนั่งในโรงก็ไม่ได้ เพราะถือว่าจะเป็นการนำเสนียดจัญไรเข้าโรงพิธี

ปัจจุบันคณะกาหลอในเมืองตรังก็ยังมีอยู่บ้าง ส่วนใหญ่เป็นคณะของผู้สูงอายุ ซึ่งหากล้มหายตายจากเมืองตรังไป ก็ยากจะหามาทดแทน หากไม่ช่วยกันสืบสานเสียตั้งแต่บัดนี้


ถ้าชอบบทความนี้ กด Like เลย :โนราห์หนังตะลุงมีความหลากหลายในท้องถิ่นอย่างไร

 2,640 view  หมวดหมู่ : เรื่องเรียน  วันที่สร้าง : 24/07/2012


 ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่นี่




× แจ้งเตือน! เราสนับสนุนทุกความคิดเห็น ที่ ใช้ถ้อยคำสุภาพ ไม่ละเมิดผู้อื่น ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง

เนื้อหาที่เกี่ยวช้อง

  ธาตุกัมมันตภาพรังสีใดที่ใช้ในการผลิตอะตอมมิกบอมบ์ ถามเมื่อ (2011-08-05)   1,958 views  (ดูล่าสุดเมื่อ 22 นาที)

  คณะพยาบาลศาศตร์มีหรือไม่ ถามเมื่อ (2015-03-24)   1,951 views  (ดูล่าสุดเมื่อ 33 นาที)

  สระสูง คือ ถามเมื่อ (2016-02-03)   3,647 views  (ดูล่าสุดเมื่อ 34 นาที)

  โตขึ้นหนูจะเรียนอะไร ถามเมื่อ (2014-06-11)   2,229 views  (ดูล่าสุดเมื่อ 46 นาที)

  ผลการวิเคราะห์ทางเคมีตัวอย่างหินในชั้นเปลือกโลก Crust จะมีธาตุใดเป็นส่วนประกอบอยู่มากที่สุด ถามเมื่อ (2020-02-11)   1,910 views  (ดูล่าสุดเมื่อ 49 นาที)

  ประเทศใดที่มีเส้นศูนย์สูตรลากผ่าน ถามเมื่อ (2015-05-19)   35,519 views  (ดูล่าสุดเมื่อ 50 นาที)

  ขยันเหมือนอะไร ถามเมื่อ (2014-07-21)   2,788 views  (ดูล่าสุดเมื่อ 62 นาที)

  โรงรับจํานํารับจํานําอะไรได้บ้าง อยากรู้ว่า รับจำนำได้ทุกอย่างหรือเปล่า ถามเมื่อ (2015-08-25)   136,732 views  (ดูล่าสุดเมื่อ 70 นาที)

  บางเหมือนกระดาษหมายถึงอะไรค่ะ ถามเมื่อ (2020-02-03)   1,699 views  (ดูล่าสุดเมื่อ 70 นาที)

  การวัดความแข็งของแร่แบบโมห์ส แร่ใดเป็นแร่ที่มีความแข็งแรงน้อยที่สุด ถามเมื่อ (2011-08-05)   2,200 views  (ดูล่าสุดเมื่อ 71 นาที)


 

บ้านเดียวกันดอทคอม เว็บถามตอบ รวมทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ ให้ความรู้ ความบันเทิง มีสาระ
www.ban1gun.com